ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention) ครั้งที่ 16

TSC Trade NEWS - 007
สี:
ขนาด:
ไม่ระบุไซต์
จำนวนซื้อ :

การรวมตัวของนักธุรกิจจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกกำลังจะเกิดขึ้นที่เมืองไทย ระหว่าง 24-26 มิ.ย.นี้  ในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese EntrepreneursConvention ) หรือ WCEC ครั้งที่ 16 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


 

        การเดินทางมาประชุมร่วมกันของนักธุรกิจจีน 3,000 – 4,000 คน จาก 40-50 ประเทศทั่วโลกครั้งนี้  เพื่อเปิดกว้างความร่วมมือใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ และการลงทุนพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากระบาดของโควิดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อหลักการประชุม“ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน”

         เมื่อวันที่ 22 ก.พ. หอการค้าไทย-จีน ได้ผนึกกำลังกับภาครัฐ ประกาศความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย โดย ณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า นักธุรกิจชาวจีนทั่วโลกถือเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่มีความสำคัญ และเป็นพลังในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศต่างๆ

        ภายใต้ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิดในช่วง3 ปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก หอการค้าไทย-จีนในฐานะหนึ่งในผู้จัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ได้มุ่งมั่นที่จะสร้างให้เกิดเวทีใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของนักธุรกิจชาวจีนทั่วโลกหลังยุคโควิด ร่วมกันค้นหาโอกาสใหม่ภายใต้วิกฤติ และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือแบบพหุภาคีและหลากหลายรูปแบบของความร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อเปิดยุคใหม่ในการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างประชาคมแห่งชะตาร่วมสำหรับนักธุรกิจชาวจีนโลก

ณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน (คนกลาง) แถลงข่าวความพร้อมประเทศไทย

 

        ประธานฯณรงค์ศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศศูนย์กลางของอาเซียน และเป็นประเทศที่มีนักธุรกิจชาวจีนอาศัยมากที่สุด มีรากฐานอุตสาหกรรมและการค้าที่แข็งแกร่ง มีความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับจีนและโลก

        ปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังส่งเสริมการเชื่อมโยงในเชิงลึกระหว่าง ไทยแลนด์ 4.0, เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC และ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง -BRIของจีน   รวมถึงการเชื่อมโยงโอกาสจากการพัฒนาอ่าวกวางตุ้งฮ่องกงและมาเก๊า  การพัฒนาเขตการค้าเสรีไห่หนาน  ระเบียงเศรษฐกิจปักกิ่ง เทียนสิน เหอเป่ย และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงของจีน

        นอกจากนี้ จากความก้าวหน้าของ RCEP ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวเลือกลำดับแรกสำหรับการลงทุนของนักลงทุนชาวจีน  

        “การประชุมครั้งนี้ เราคาดว่าจะมีนักธุรกิจจีน ไม่ต่ำกว่า 3,000 – 4,000 คน  จาก 40 – 50  ประเทศทั่วโลกที่เดินทางมาเข้าร่วม  เฉพาะที่มาจากจีน คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 คน โดยในช่วง 3 วันของการจัดการประชุม คาดว่าจะมีเงินสะพัด 400-500 ล้านบาท และก่อให้เกิดการขยายลงทุนตามมาอีกหลายหมื่นล้านบาท” ประธานฯหอการค้าไทย-จีน ระบุ

จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

        ด้านจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั้งนี้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนที่แน่นแฟ้น

        กระทรวงพาณิชย์มีความยินดีที่จะสนับสนุน และผลักดันให้เกิดความร่วมมือและผลลัพธ์ที่ดีต่อทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ และเชื่อว่า ทุกภาคส่วนในประเทศไทยก็พร้อมที่จะร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ในการสร้างมิติใหม่ของ “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมรอบด้าน

        นอกจากนี้ รองนายกฯจุรินทร์  ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา4 ปีที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ได้มีโอกาสร่วมสร้างความสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีนตลอดทั้งปี 2565 ซึ่งจีนเป็นคู่ค้าอันดับ1 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมถึง 3.69 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.53 เมื่อเทียบกับปี 2564 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.9 ของการมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย

        นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความตกลงทางการค้าที่ทันสมัยเชื่อมกับจีนในทุกระดับ ทั้งการยกระดับเอฟทีเอ อาเซียน-จีน/ การบังคับใช้ความตกลง RCEP/ ไปจนถึงความตกลงระดับมณฑลและเมืองรองต่างๆหรือ “mini FTA” ซึ่งปัจจุบันได้ลงนามแล้วกับมณฑลไห่หนาน และมณฑลกานซู่ และมีกำหนดจะลงนามกับเมืองเซินเจิ้นในวันที่ 1 มี.ค. ที่จะถึงนี้ รวมถึงมณฑลยูนนานในอนาคตอันใกล้

 

         ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าการจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ซึ่งจะมีนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม และมีครอบครัวหรือผู้ติดตามร่วมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการกระตุ้มเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ และยังมุ่งหวังให้เกิดการท่องเที่ยวภายในย่านต่างๆอีกด้วย  นับเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้มาเยือนและพัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน

        ด้านบุญยงค์  ยงเจริญรัฐ  รองประธานหอการค้าไทย-จีน และประธานคณะกรรมการจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั้งที่ 16  กล่าวถึงความเป็นมาของ “เวทีประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกหรือ WCEC” ก่อตั้งขึ้นโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมจีนสิงคโปร์  หอการค้าจีนฮ่องกงและ หอการค้าไทย-จีน และจัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1991 และจัดประชุมทุกๆ 2 ปี  

        การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่15 เป็นครั้งล่าสุด จัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 2019 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา  ทำให้การจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก เว้นห่างเป็นเวลาถึง 4 ปี

        การจัดประชุมWCEC ครั้งที่ 16  กำหนดที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566  เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะจัดเป็นกิจกรรมแรกของ WCEC ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19   สถานที่หลักของการประชุมจะอยู่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

        กำหนดการของการประชุมแบ่งออกเป็นพิธีเปิด ฟอรัมหลัก ฟอรัมย่อยคู่ขนานและกิจกรรมสนับสนุนศึกษาดูงาน การจับคู่ธุรกิจ กอล์ฟกระชับมิตร และนิทรรศการ พิธีปิดคืองานกาล่านักธุรกิจชาวจีนโลก

  

      ทั้งนี้ หอการค้าไทย-จีน ได้ออกหนังสือเชิญไปยังองค์กรธุรกิจที่สำคัญๆในโลก  (เช่น สิงคโปร์  ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ลาว กัมพูชา เมียนมา มาเก๊า จีน  เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น  ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐฯ บราซิล  ดูไบ  เนเธอร์แลนด์อิตาลี เยอรมนี อังกฤษ เป็นต้น) รวมถึงกลุ่มธุรกิจจีนรายใหญ่  และองค์กรภาคธุรกิจไทย  

        จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดประชุม WCEC ครั้งนี้ จะมีนักธุรกิจชาวจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลกว่า 2,000 คน  และคาดว่าจะมีผู้ติดตามรวมๆ 4,000 คน ร่วมเดินทางเยือนประเทศไทย รวมถึงนักธุรกิจจีนและนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยในประเทศไทย อีกประมาณ 1,000 คน ที่จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้  

        สำหรับเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของการประชุม คือ www.16th-wcec.org และอีเมลการประชุมคือ: info@16th-wcec.org โดยระบบลงทะเบียนการประชุมจะเปิดให้บริการในต้นเดือนมีนาคม นักธุรกิจจีนที่ได้รับเชิญจากทั่วโลกสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์การประชุมได้ และยังสามารถติดตามข้อมูลล่าสุดของการประชุม รวมถึงแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าของประเทศไทยด้านการลงทุนผ่านเว็บไซต์

ขอบคุณที่มา: https://www.tap-magazine.net/blog-th/wcec220222


รายการที่เกี่ยวข้อง