การประชุมสุดยอด G20 ความร่วมมือเพื่ออนาคตโลก
210 Views
พุธที่ 20 กันยายน 2566
การประชุมสุดยอด G20 ความร่วมมือเพื่ออนาคตโลก
การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ซึ่งจบลงไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีการประชุมทั้งสิ้นรวม 2 วัน คือในวันที่ 9 และ วันที่ 10 กันยายน เจ้าภาพคือประเทศอินเดีย
ขณะที่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็ไม่ได้มาร่วมการประชุมเช่นกัน ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 แล้ว นับแต่การประชุมสุดยอดจี-20 ที่ เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว เนื่องจากถูกศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี ออกหมายจับ ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
ประเด็นสำคัญ การประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการประชุมหารือเฉพาะแค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ เท่านั้น แต่มีประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน ที่โยงไปถึงความเห็นว่า สมาชิก G20 ควรมีการประท้วงการกระทำของรัสเซียหรือไม่
การประชุมสุดยอดครั้งนี้ จึงถูกมองว่าน่าจะเป็นการประชุมที่ยากที่สุดในประวัติศาสตร์เกือบ 20 ปีของการประชุม G20 เพราะมีรายงานข่าวออกมาก่อนหน้าว่า มีการใช้เวลาเกือบ 20 วันในการตกลงเกี่ยวกับปฏิญญาที่จะประกาศ ก่อนที่จะเกิดการประชุมสุดยอด จนถูกมองว่าการประชุมครั้งนี้อาจคว้าน้ำเหลว เนื่องจากชาติตะวันตกแสดงจุดยืนเรียกร้องให้สมาชิกประท้วงมอสโกสำหรับการทำสงครามรุกรานยูเครน ขณะที่รัสเซียก็แสดงจุดยืนชัดเจนเช่นกันว่าจะขัดขวางมติใดๆ ก็ตามที่ไม่สะท้อนถึงจุดยืนของรัสเซีย
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 9 กันยายน ที่ประชุม G20 ได้รับรองปฏิญญาผู้นำ (Leaders’ Declaration) โดยหลีกเลี่ยงการประณามรัสเซีย แต่เน้นย้ำถึงความทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากความขัดแย้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกรัฐไม่ใช้กำลังเพื่อยึดครองดินแดน
ปฏิญญาดังกล่าวก่อให้เกิด 2 มุมมองที่แตกต่างกัน นั่นคือ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายตนเอง โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของรัสเซียในการก่อสงครามยูเครน มองว่า ถือเป็นชัยชนะแล้ว เพราะแม้จะไม่มีการประณามรัสเซีย แต่ก็มีจุดยืนชัดเจนว่า รัฐต่างๆ ไม่สามารถใช้กำลังทางทหารเพื่อยึดหรือครอบครองดินแดนรัฐอื่น
นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ กล่าวว่า ปฏิญญาการประชุมสุดยอด ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการยืนหยัดต่อหลักการที่ว่ารัฐต่างๆ ไม่สามารถใช้กำลังเพื่อแสวงหาการครอบครองดินแดน หรือละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐอื่น
เช่นเดียวกับประเทศเยอรมนี และ ประเทศอังกฤษ ล้วนมีท่าทีชื่นชมปฏิญญาของการประชุมเช่นกัน
ขณะที่ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรประณามรัฐเซีย เพราะกรณียูเครนมีประเด็นละเอียดอ่อนที่ควรพิจารณามากกว่าแค่การส่งกำลังทหารเข้าไปในยูเครน ดังนั้น เมื่อปฏิญญาไม่ได้มีการประณามมอสโก จึงถือว่าเป็นชัยชนะของรัสเซียแล้ว
นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัสเซีย กล่าวว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จสำหรับอินเดียและกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของโลก) และชื่นชมจุดยืนของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ในการเจรจาช่วยป้องกันไม่ให้การประชุม G20 ถูกบดบังโดยประเด็นเกี่ยวกับยูเครน
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม นั่นคือ มุมมองของ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่กล่าวว่า G20 จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การประชุมนี้จึงไม่ใช่สถานที่ที่จะมาคาดหวังถึงความก้าวหน้าทางการทูตเกี่ยวกับสงครามในยูเครน พร้อมกับระบุว่า ปฏิญญาของกลุ่ม G20 ไม่ใช่ชัยชนะทางการทูตสำหรับรัสเซีย ซึ่งถูกโดดเดี่ยวจากการประชุมสุดยอด
อีกมุมมองที่น่าสนใจ คือ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ที่กล่าวว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจสั่นคลอนรากฐานของกลุ่ม G20
ด้านยูเครน มองปฎิญญาที่แม้ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง เพื่อแสวงหาการครอบครองดินแดนของยูเครน ถือเป็นการขัดต่ออธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน แต่เมื่อไม่ได้มีระบุชื่อประเทศอย่างชัดเจนว่าเป็นรัสเซียหรือไม่ จึงมองว่า จุดยืนในครั้งนี้ต่างจากการประชุม G20 เมื่อปีที่แล้ว ที่มีการประณามกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนอย่างชัดเจน ดังนั้นยูเครนจึงมองว่าปฏิญญาครั้งนี้ไม่มีอะไรน่าภาคภูมิใจ
สำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ยังไม่บรรลุข้อตกลงที่จะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่ องค์กรอิสระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอังกฤษ (EG3) เรียกร้องให้บรรดากลุ่มผู้นำ G20 ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังนั้น การประชุมครั้งนี้ก็ไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจนออกมาเช่นกัน
แต่กรณี นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย เสนอให้ สหภาพแอฟริกา ซึ่งมีสมาชิก 55 ประเทศ เป็นสมาชิกถาวรของกลุ่มจี-20 อย่างเป็นทางการ ทางสมาชิกกลุ่มจี-20 ทั้งหมด มีมติเห็นชอบ
สำหรับท่าทีของจีนในการประชุมครั้งนี้ จะเห็นว่า นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เน้นย้ำว่า จีนและสหภาพยุโรปจำเป็นต้องมีความสามัคคี และร่วมมือกันมากกว่ากีดกัด หรือเผชิญหน้ากัน ซึ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก ยิ่งต้องมีความร่วมมือกัน พร้อมกับเรียกร้องให้สหภาพยุโรปเลิกการเลือกปฏิบัติต่อบริษัทจีน หรือธุรกิจจีน โดยจีนยินดีที่จะเจรจาและให้ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และการลงทุนในโครงการที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากจีนและยุโรปร่วมมือกัน จะช่วยป้องกันความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้
ในครั้งหน้า บราซิลจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด G20 ที่ นครรีโอเดจาเนโร ของบราซิล ในปี 2567 โดยประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำบราซิล ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม G20
ภูวนารถ ณ สงขลา
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดนด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
บรรณาธิการบริหาร
สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ออนไลน์
สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://bangkoktodayonline.com